การเลือกแอมป์ขับซับวูฟเฟอร์
โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ
ปกติซับวูฟเฟอร์จะถูกออกแบบมาให้ทนกำลังขับได้สูงขยับเข้า-ออกเป็นช่วงลึกโดยยอมสูญเสียความไวลงเพื่อทุ้มที่ลงได้ต่ำลึก
นั่นก็หมายความว่าแอมป์ที่จะมาขับมันก็ต้องสามารถช่วยชดเชยจุดอ่อนเสริมจุดแข็งของดอกซับได้ด้วย
แอมป์ชนิดใดที่เหมาะกับการขับซับ
- ต้องมีกำลังขับสูงพอ เนื่องจากซับวูฟเฟอร์มักมีความไวแค่ 86 dB SPL/W/M อย่างเก่งก็ 89 dB SPL/W/M ไม่มีเลยที่จะมีความไวถึง 90 dB SPL/W/M ขึ้นไปทำให้ต้องใช้แอมป์กำลังขับไม่ต่ำกว่า 100 W RMS/ข้าง ที่ 4 โอห์ม สำหรับการฟังทุ้มระดับพอจะเต็มรถ แต่ไม่ขนาดอัดได้จนรถโป่ง แบบนั้นต้องไม่ต่ำกว่า 250 W RMS/CH ที่ 4 โอห์ม
- เนื่องจากความต้านทานของดอกซับมีขึ้นมีลง อาจตกวูบลงเหลือแค่ 2 โอห์ม ก็ยังมี ดังนั้นแอมป์ที่มาขับจึงควรทำงานได้อย่างมีเสถียรภาพ แม้ลำโพงมีความต้านทานตกต่ำแค่ 2 โอห์ม ซึ่งแอมป์ที่ดีจริงจะระบุสเปคว่ากำลังขับที่ 4 โอห์มเช่น 100 W RMS/CH ที่ 2 โอห์ม โดดเป็น 200 W RMS/CH โดยความเพี้ยน ไม่ควรพุงสูงขึ้นมากเกินไป เช่นจาก 0.05% (THD) เป็น 0.1% แอมป์บางเครื่องเก่งกว่านั้นรับได้ถึง 1 โอห์มเช่น 100 W RMS/CH ที่ 4 โอห์ม, 200 W RMS/CH ที่ 2 โอห์มและ 400 W RMS/CH ที่ 1 โอห์ม (อาจได้แค่ 300 W RMS/CH ที่ 1 โอห์ม) โดยวงจรป้องกันยังไม่ตัดแอมป์ แต่แอมป์ชนิดนี้มักมีขนาด ใหญ่กว่าปกติถึง 2 เท่า เพื่อรองรับกับการจ่ายกระแสได้เป็นสิบๆแอมป์อย่างนั้น อีกทั้งครีบระบายความ ร้อน ต้อง ใหญ่มากพอ มิเช่นนั้นเครื่องจะร้อนจัดเกินไป
- ต้องมีความสามารถในการหยุดการสั่นค้างของดอกลำโพง (DAMPING FACTOR หรือ DF) สูงพอ ไม่ควรต่ำกว่า 100 เป็นอย่างน้อย แอมป์หลอดไม่ถึง 20 แอมป์ Class D ไม่ถึง 100 (อาจได้ 50-60) รวมทั้งดิจิตอลแอมป์ด้วย (ไม่ถึง 100) แอมป์ปกติ Class AB ถ้าระดับไฮเอนด์ค่า DF มีตั้งแต่ 300 ขึ้นไป บางรุ่น 1200 หรือ 2000 หรือ 3000 ก็มียิ่งค่า DF ต่ำ ยิ่งต้องใช้สายลำโพงซับที่ใหญ่ สั้น ทองแดงดีที่สุด
- การนำแอมป์สเตอริโอ (2CH) มาบริดจ์เป็นโมโน (1CH) ค่า DF จะลดลงเหลือครึ่งเดียวซึ่งจะทำให้ ทุ้มหนา,ขุ่น,เฉื่อย,ยานครางไม่กระชับ ทำให้เสียงทุ้ม,กลาง,แหลมขุ่นขึ้น มีม่านหมอกในเวทีเสียง
จึงไม่ควรเอาแอมป์สเตอริโอบริดจ์เป็นโมโนมาขับซับอย่างยิ่ง ยิ่งถ้าดอกซับเป็นวอยซ์คู่ (ดูบทความเรื่องวอยซ์เดี่ยว,คู่ในเล่มนี้) เมื่อต่อวอยซ์ขนานกัน ความต้านทานจะเหลือแค่ครึ่งเดียวคือ 2 โอห์ม ค่า DF ของแอมป์ยิ่งต่ำลงไปอีก (จาก 100 บริดจ์เหลือ 50 เอาวอยซ์คู่ขนานเหลือ 25 ทุ้มจะเบลอ สั่นค้าง ยานคราง กลางเบลอขุ่น แหลมทึบ)
- แอมป์ขับซับควรตอบสนองได้ฉับไว (ค่า Slew Rate สูง) ไม่ควรต่ำกว่า 40 โวลต์ต่อไมโครเซกัน แย่หน่อยที่แทบจะไม่มีใครระบุค่านี้ไว้ในสเปคแอมป์ที่ค่านี้ต่ำ เสียงจะไม่คมชัด คลุมเครือ เฉื่อย
- แอมป์ขับซับต้องมีคุณภาพเสียงที่ดี มีมิติ ความเพี้ยนต่ำ สวิงเสียงค่อยสุดไปดังสุดได้กว้าง พูดง่ายๆไม่ใช่แค่ดังไล่ควายอย่างเดียว อย่าลืมว่ามันมีผลต่อเสียงกลางกับแหลมด้วย
- ควรมีอัตราส่วนสัญญาณต่อเสียงกวนสูง (ค่า Signal to Noise Ratio สูง) ไม่ต่ำกว่า 80 dB ขึ้นไป ระดับไฮเอนด์ได้ถึง 100 dB
- ถ้าเลือกได้พยายามหลีกเลี่ยงแอมป์ที่มีพัดลมระบายความร้อนเพราะการมีพัดลมอาจเป็นตัวบอกว่าใช้ทรานซิสเตอร์ขาออกน้อยตัวเกินไป หรือทนกำลังขับสูงๆไม่ได้ อีกอย่างคือการกินไฟของพัดลมจะทำให้เสียงขุ่น,มัว,ถอยจม ไม่เป็นตัวตน เบลอ จะยากในการให้เสียงกลมกลืนกับทรวดทรงของกลางแหลม
- ถ้าชอบอัดหนักๆดังๆใช้ซับประเภทช่วงชักลึกหรือกรวยตึงตัวมากต้องใช้แอมป์ที่ค่า DF สูงไม่อย่างนั้น มันระบายแรงดันไฟป้อนกลับจากดอกซับ ระบายลงพื้นไม่ทันเสียงจะยานคราง และกรวยซับกระพือจะ พังได้ง่าย ยิ่งรถโหลดเตี้ยขับเร็วด้วย
- ระวังแอมป์โนเนมไร้สังกัด ประเภทกำลังขับราคาคุยบอกสเปคสูงเกินจริง ดีเกินจริง หรือใหญ่แต่โครงตัวถังไส้ในเล็กนิดเดียว ใช้ครีบระบายความร้อนอะลูมิเนียมคุณภาพต่ำ (30% ของราคาแอมป์คือค่าครีบ ระบายความร้อนนี่แหละ)
- ถ้าเลี่ยงได้ไม่ควรใช้แอมป์ประเภท 5 CH โดย 4 CH ไว้ขับกลาง,แหลม CH ที่ 5 ขับซับซึ่งจะมีกำลังขับมากกว่าเช่น 60 W RMS x 4 CH กับ 120 W RMS อีก 1 CH เพราะจะดึงกำลังภาคจ่ายไฟที่จ่ายให้แก่ 4 CH ที่เหลือ อาจได้รับความสะดวกในการติดตั้งแต่คุณภาพก็ต้องลดทอนลง